9 ไอเดีย ออมเงินเดือนละ 3,000 บาท ให้มีเงิน “เกินล้าน”

1490

#Punphol101 Ep.09 ทุกเรื่องที่ต้องรู้ ก่อนลงทุน “สู้เงินเฟ้อ”⁣⁣
⁣⁣
#ป๊าอิก สอน #น้องปันผล จด :)⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣⁣
⁣⁣
ติดตามความรุ้และอัปเดต “TAM-EIG_เงินทองมันต้องวางแผน” https://bit.ly/3cvyzNC⁣⁣
⁣⁣⁣⁣
#ทุกเรื่องที่นักลงทุนต้องรู้ #tameig ⁣#วางแผนการเงิน

3 สิ่งที่ต้องรู้ ก่อนเริ่มลงทุน

1. เงินเริ่มต้น
แน่นอนว่าเงินเริ่มต้นมียิ่งมากก็ยิ่งดี แต่ถ้ายังมีไม่มากก็ไม่เป็นไร

 

2. ผลตอบแทน
การทำให้เงินต้นที่เรามี ไม่ว่าจะมากหรือน้อยงอกเงยเพิ่มพูนมากขึ้น ผลตอบแทนยิ่งมาก จำนวนเงินก็เพิ่มขึ้นไว

 

3. ระยะเวลา
ถ้าเงินต้น และอัตราผลตอบแทนเท่ากัน คนที่ลงทุนระยะเวลาที่นานกว่ากว่า ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า

ระยะเวลา เป็นปัจจัยที่ทุกคนในโลก ไม่ว่าจะมีเงินมากหรือน้อย ต่างก็มีเวลาเท่ากัน ยิ่งเริ่มลงทุนเร็ว ก็ยิ่งมีระยะเวลาให้เงินต้นงอกเงยมากขึ้น

4 อย่างที่ต้องมี เพื่อเริ่มลงทุน

1. เป้าหมาย

ต้องการเอาเงินไปใช้ทำอะไรและเมื่อไร เมื่อรู้เป้าหมายแล้ว เราจะรู้ว่าเรามี “ระยะเวลา” ในการลงทุนเท่าไร และต้องเก็บเงินกี่บาท

เช่น เก็บเงินซื้อบ้านในอีก 3 ปี หรือเก็บเงินเกษียณในอีก 30 ปี

2. ความเสี่ยงที่เรารับได้

ส่วนแรก เกี่ยวเนื่องมากจากเป้าหมายการใช้เงินด้วย ว่าเงินที่เราจะเอาไปลงทุนสามารถเสี่ยงที่เงินต้นจะหาย หรือความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ได้มากน้อยแค่ไหน เช่น เก็บเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศก็อาจจะรับความเสี่ยงได้ มากกว่าเงินค่าเล่าเรียนลูก

ส่วนที่สอง อันนี้คือจากความรู้สึกตัวเราเองเลย การลงทุนระยะยาวมีขึ้นมีลง ในช่วงการลงทุนเราสามารถเห็นตัวเลขในพอร์ตติดลบได้แค่ไหน ที่ยังสบายใจ กินอิ่มนอนหลับ เช่น -5% -10% หรือ -25%?

3. ตัวช่วยที่จะทำให้เงินต้นงอกเงย

ตัวช่วย ก็คือทางเลือกการลงทุนนั่นเอง ซึ่งการลงทุนมีหลายตัวเลือก ควรเลือกให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ความเสี่ยงที่เรารับได้ และที่สำคัญ ความรู้ด้านการลงทุนที่เรามี

4. กลยุทธ์การลงทุน

เมื่อเตรียมพร้อมหมดแล้ว ขั้นสุดท้ายคือการวางแผนว่าเราจะใช้ “ตัวช่วย” แบบในรูปแบบไหน เช่น ลงทุนครั้งเดียวก้อนใหญ่ ๆ เลยหรือจะทยอยลงทุนทุกเดือน

เงินที่นำมาลงทุน ต้องแน่ใจว่าไม่มีความจำเป็นใช้เงินในช่วงเวลาที่ลงทุน และควรกระจายเงินลงทุนในหลายตัวช่วย เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง

ตัวช่วยที่ 1 เงินฝากธนาคาร

 

เป็นวิธีที่เราคุ้นเคยกันดี ความเสี่ยงต่ำ เข้าใจง่าย แต่ผลตอบแทนก็ค่อนข้างต่ำด้วยเช่นกัน ซึ่งมี 2 แบบที่จะแนะนำ

 

1.1 ออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูง

ตอนนี้มีออกมาในรูปแบบ “ออมทรัพย์ดิจิทัล” ด้วย ลักษณะคือไม่มีสมุดคู่ฝาก เปิดบัญชีทางออนไลน์ได้ และดอกเบี้ยจะสูงกว่าเงินฝากทั่วไป ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1-2% ต่อปี

 

1.2 ฝากประจำปลอดภาษี

ผู้ฝาก 1 ราย เปิดได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น (รวมกันทุกธนาคาร และทุกรูปแบบระยะเวลา)

ต้องมีวินัยในการฝากเงินเท่ากันทุกเดือนเดือนละ 1 ครั้ง ตามระยะเวลาที่เลือก เช่น 24, 36 หรือ 48 เดือน (ขาดฝากได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)

ขั้นต่ำ 500-1,000 บาท/เดือน (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร) สูงสุดไม่เกิน 16,500-25,000 บาท/เดือน (จำนวนเงินฝากโดยรวมตลอดระยะเวลาฝากต้องไม่เกิน 600,000 บาท)

ดอกเบี้ยที่ได้รับไม่เสียภาษี แต่จะได้รับครั้งเดียวตอนครบกำหนด และผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1.5-2% ต่อปี

ตัวช่วยที่ 2 สลากออมทรัพย์

เป็นฝากเงินที่มีการลุ้นรางวัลควบคู่ไปด้วยเดือนละ 1 งวด (คล้ายลอตเตอรี่) จนกว่าจะครบกำหนด เหมาะสำหรับคนที่ไม่อยากรับความเสี่ยงมาก และอยากลุ้นผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากเงินรางวัล ผลตอบแทนต่ำ แต่ถ้ามีโชคถูกรางวัลก็อาจจะได้ผลตอบแทนที่สูงเงินรางวัลและดอกเบี้ยจากการฝากสลากออมทรัพย์ไม่ต้องเสียภาษี
เช่น สลากออมสิน สลากออมทรัพย์ธอส.

ตัวช่วยที่ 3 พันธบัตรรัฐบาล

ตราสารหนี้ที่ออกโดย “รัฐบาล” ซึ่งเราจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล
ระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างยาว เช่น 5 ปี 10 ปี ความเสี่ยงและผลตอบแทนต่ำ ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยระหว่างทาง และได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด

ตัวช่วยที่ 4 หุ้นกู้

ตราสารหนี้ที่ออกโดย “ภาคเอกชน” ซึ่งเราจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของภาคเอกชนนั้น ๆ
ระยะเวลาการลงทุนตามที่ระบุ ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบดอกเบี้ยระหว่างทาง และได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด

ความเสี่ยงจะสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากภาคเอกชนมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากกว่ารัฐบาล ดังนั้น ผลตอบแทนก็มักจะสูงกว่า

เราสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ และหุ้นกู้ได้จาก Credit rating

 

ตัวช่วยที่ 5 กองทุนรวม

ให้ผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญช่วยบริหารและลงทุนให้ โดยเราจะได้เป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น (หรือขาดทุน) ของกองทุนรวมต่อหน่วยตอนขาย และบางกองทุนอาจมีเงินปันผลระหว่างทาง

กองทุนรวมมีการลงทุนในหลายสินทรัพย์ ซึ่งความเสี่ยงขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่ลงทุน เช่น ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (ความเสี่ยงต่ำ), หุ้นกู้, ผสมทั้งหุ้นและตราสารหนี้ (ความเสี่ยงปานกลาง) หรือลงทุนในหุ้น (ความเสี่ยงสูง)

 

ตัวช่วยที่ 6 หุ้นสามัญ

ตราสารทุน ที่เราจะมีฐานะร่วมเป็นเจ้าของกิจการ ตามสัดส่วนที่เราถือหุ้น ผลตอบแทนที่ได้รับคือ เงินปันผล และส่วนต่าง (กำไร/ขาดทุน) จากราคาซื้อขาย

เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ใครที่สนใจลงทุนหุ้นเองโดยตรง ควรศึกษาข้อมูลธุรกิจและการลงทุนด้วย

 

ตัวช่วยที่ 7 ทองคำ

ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) คือมีมูลค่าในตัวเองเสมอ แต่ราคาก็อาจมีขึ้น-ลง ได้ตามภาวะตลาด โดยผลตอบแทนที่ได้รับคือส่วนต่าง (กำไร/ขาดทุน) จากราคาซื้อ-ขาย

การซื้อทองแท่งจะใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเราสามารถออมทองทีละน้อยสะสมผ่านร้านทองไปเรื่อย ๆ ก็ได้ ปัจจุบันมีทางเลือกการออกทองมากขึ้น กำไรไม่เสียภาษี

ตัวช่วยที่ 8 อนุพันธ์

เป็นสินค้าที่ไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่มีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินค้าอื่นที่อนุพันธ์นั้นไปอ้างอิง
มีอายุจำกัด เมื่อหมดอายุมูลค่าของอนุพันธ์นั้น ๆ ก็จะหมดลงด้วย
ใช้เงินลงทุนไม่มาก ทั้งผลตอบแทนและความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน
ได้แก่ Futures, Options

 

ตัวช่วยที่ 9 ความรู้

การลงทุนในตัวเอง ถือว่าสำคัญที่สุด เพราะเราควรมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งเราจะเอาเงินเราไปลงทุน และเมื่อมีความรู้มากขึ้น เราก็มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างคอร์สออนไลน์ เรียนฟรี จากตลาดหลัดทรัพย์แห่งประเทศไทย

1. เงินทองต้องวางแผน
https://elearning.set.or.th/SETGroup/courses/182/info

2. ลงทุนกองทุนรวมฉบับมือใหม่
https://elearning.set.or.th/SETGroup/courses/19/info

3. สร้างพอร์ตกองทุนรวมแบบ DIY
https://elearning.set.or.th/SETGroup/courses/25/info

4. ลงทุนหุ้นฉบับมือใหม่
https://elearning.set.or.th/SETGroup/courses/18/info

5. ลงทุนหุ้นมั่นใจ ต้องเข้าใจงบการเงิน
https://elearning.set.or.th/SETGroup/courses/27/info

6. ลงทุน DW ฉบับมือใหม่
https://elearning.set.or.th/SETGroup/courses/202/info

“ถ้าออมเดือนละ 3,000 บาท ระยะเวลา 30 ปี จะมีเงินเก็บเท่าไร?”

ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนประมาณ 1% จะมีเงินเก็บ 1,264,778 บาท

ความเสี่ยงปานกลาง ผลตอบแทนประมาณ 3% จะมีเงินเก็บ 1,764,096 บาท

ความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนประมาณ 8% จะมีเงินเก็บ 4,404,451 บาท

Picture of Vareeporn N.

Vareeporn N.

1490